ย้อนตำนาน 10 เรื่องของ “ดุสิตธานี” ในวันที่โบกมือลา
วันนี้ (5 มกราคม 2562) โรงแรมดุสิตธานี(Dusit Thani) มีกำหนดปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในเวลา 14.00 น. หลังจากประกาศแผนปรับปรุงพื้นที่แห่งนี้ให้กลายเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์รูปแบบผสม หรือมิกซ์-ยู (Mixed-Use Development) โรงแรมระดับ 5 ดาว ยุคแรกๆ ของประเทศไทยแห่งนี้ กลายเป็นตำนานที่มีเรื่องเล่าขานมากมาย และนี่คือ 10 เรื่องในความทรงจำ
1. โรงแรมดุสิตธานี ก่อตั้งโดยท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย เริ่มต้นดำเนินกิจการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2513 เป็นอาคารทรงสามเหลี่ยม 22 ชั้น หลังจากทำโรงแรมปริ๊นเซสมาระยะหนึ่งแล้ว แต่สถานที่คับแคบเกินไป ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของท่านผู้หญิงชนัตถ์ ที่อยากดำเนินธุรกิจโรงแรม ซึ่งมีบริการต่างๆ ครบถ้วน รวมทั้งเศรษฐกิจของกรุงเทพฯในตอนนั้นก็กำลังขยาย “สีลม” จึงกลายเป็นย่านธุรกิจที่น่าจับตามอง เพื่อต่อเติมความฝันของตัวเองให้สุด ท่านผู้หญิงถึงกับต้องขายโรงแรมปริ๊นเซสเพื่อนำเงินมาลงทุนก่อสร้างโรงแรมมดุสิตในปีพ.ศ. 2509 ก่อนที่ในเวลาต่อมาเมื่อธุรกิจโรงแรมในเครือดุสิตเข้มแข็งแล้ว ครอบครัวของท่านผู้หญิงก็รื้อฟื้นแบรนด์ “ปริ๊นเซส” ขึ้นมาอีกครั้ง
ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย2. เดิมพื้นที่แห่งนี้ในอดีต คือ บ้านศาลาแดง ของเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ในวันเปิดโรงแรมดุสิตธานี สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาทรงเป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยเสด็จด้วย
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาทรงเป็นประธานในพิธีเปิดท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย3. บุคคลสำคัญระดับโลกที่เคยเข้าพักที่โรงแรมแห่งนี้ มีทั้งเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง ผู้นำประเทศ ศิลปิน นักร้อง นักธุรกิจ อาทิเช่น นายกรัฐมนตรีมากาเรต แทชเชอร์ ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน หรือแม้แต่ วิทนี่ย์ ฮูสตัน เฉินหลง กระทั่งนักร้องวัยรุ่นอย่าง ดงบังชินกิ Got7 ก็เคยใช้บริการที่นี่มาแล้ว รวมทั้งใช้เป็นที่พักเก็บตัวมิสยูนิเวิร์สครั้งล่าสุดที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ
4. โรงแรมดุสิตธานี ออกแบบโดย Yozo Shibata ท่านผู้หญิงชนัตถ์ พบเขาที่โตเกียว โดยประทับใจผลงานการออกแบบ Hotel Okura ที่เขาเป็นหนึ่งในทีมงาน รวมทั้งประสบการณ์การออกแบบ New Otani Hotel โรงแรมสูง 17 ชั้น ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในญี่ปุ่นขณะนั้น และเมื่อโรงแรมดุสิตธานีสร้างเสร็จก็กลายเป็นตึกที่สูงที่สุดในประเทศไทยในเวลานั้นเช่นกัน
โรงแรมดุสิตธานี5. พื้นที่ไฮไลต์ของโรงแรมแห่งนี้ เช่น “ห้องนภาลัย บอลรูม” ห้องจัดเลี้ยงที่หรูหรา ถูกใช้เป็นสถานที่จัดงานแต่งงาน หรืองานประชุมสำคัญๆ “บับเบิ้ลส์คลับ” ดิสโก้ เธค ที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้น นั่งจิบเครื่องดื่มเพลินๆ มีดีเจจากต่างประเทศผลัดกันมาจัดเพลงดีๆ เพราะๆ ให้ฟัง และชวนคุยเฮฮา และยังมี “ห้องอาหารเบญจรงค์” ร้านอาหารไทยที่นำเอาเมนูอาหารไทยที่ผ่านการคัดสรรค์แล้วมานำเสนออย่างพิถีพิถัน
บับเบิ้ล ดิสโก้ เธคห้องอาหารเบญจรงค์6.นอกเหนือจากบริการต่างๆ ที่ “ดุสิตธานี” มีเพื่อรองรับลูกค้าแล้ว สถานที่แห่งนี้ยังเป็น “โรงเรียน” ที่หล่อหลอมวัฒนธรรมการทำงานในภาคบริการ จนกระทั่งเป็นต้นกำเนิดของ “วิทยาลัยดุสิตธานี” ซึ่งก่อตั้งขึ้นในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2536 เพื่อสอนหลักสูตรการโรงแรม หลังจากนั้นได้ร่วมมือกับ “เลอ กอร์ดอง เบลอ” สถาบันสอนศิลปะการทำอาหารที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เปิดสอนการประกอบอาหาร มีทั้งหลักสูตรมืออาชีพ หลักสูตรระยะยาว- สั้น และเปิดสอนกับบุคคลทั่วไปที่สนใจศิลปะการทำอาหารด้วย
7.กลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DTC เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 1-5 ของประเทศไทยที่ยังคงดำเนินการอยู่ในตลาดหลักทรัพย์จนถึงปัจจุบัน คุณชนินทธ์ โทณวณิก ลูกชายคนโตของท่านผู้หญิง เล่าว่า เพราะว่าในตอนนั้นโปรเจ็กท์เช่นนี้นับว่าใช้เม็ดเงินลงทุนสูงมาก จึงอาศัยการระดมทุนจากเพื่อนฝูง ในวันที่ลงเสาเอกและประชุมผู้ถือหุ้น มีเพื่อนของท่านผู้หญิงนับร้อย เข้าร่วมประชุม ดังนั้น DTC จึงเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เป็นบริษัทแรกๆ ของไทย ตั้งแต่ปี 2518
ประชุมผู้ถือหุ้นประชุมผู้ถือหุ้น8.ถึงแม้ว่าจะเป็นโรงแรมของ “คนไทย” ที่บริหารงานโดย “คนไทย” ระดับชั้นนำของประเทศ แต่ความเปลี่ยนแปลงของสังคมและยุคสมัยเป็นโจทย์สำคัญสำหรับโรงแรมระดับ 5 – 6 ดาวในสมรภูมิการแข่งขันปัจจุบัน เมื่อโรงแรมในระดับเดียวกันมีพื้นที่ห้องราว 40 ตารางเมตรขึ้นไป แต่ที่ดุสิตธานีมีขนาดห้องเพียง 29-32 ตารางเมตรเท่านั้น ถึงแม้ว่าจะมีความพยายามตกแต่งหรือทุบห้องเพื่อขยายให้ใหญ่ขึ้น แต่ด้วยผังการก่อสร้างก็ไม่ได้เอื้ออำนวย ทางทีมผู้บริหารจึงต้อง “ตัดใจ” ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากแฟนๆ ทั้งไทยและเทศ ที่อยากจะเก็บความทรงจำของพวกเขาเอาไว้ แล้ว “ตัดสินใจ” เดินหน้า…
9. ปัจจุบัน เครือดุสิตธานี ถือหุ้นโดยครอบครัวของท่านผู้หญิงชนัตถ์ ราว 49% ส่วนผู้ถือหุ้นอันดับ 2 คือกุล่มเซ็นทรัล ที่ 22% จึงเป็นที่มาของ ก้าวต่อไป “ดุสิตธานี” ที่ดินบริเวณหัวมุมถนนสีลมแห่งนี้ จะถูกพัฒนาเป็น Mixed-Use Development ซึ่งเป็นโปรเจ็กท์ร่วมกับ เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN เป็นโครงการมูลค่า 3.67 หมื่นล้าน
10. สำหรับแนวทางการออกแบบโครงการใหม่ ตามที่ คุณศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DTC ได้เปิดเผยรายละเอียดของโครงการที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566 เอาไว้ว่า “ตั้งแต่ที่เราประกาศเรื่องโครงการนี้ไปเมื่อช่วงต้นปีที่แล้ว เราก็ได้รับเสียงตอบรับและความคิดเห็นที่เป็นบวกมากมายจากลูกค้า ในขณะเดียวกัน ลูกค้าเองก็แสดงออกถึงความเสียดายและยังสอบถามมาว่า เรามีแผนการที่จะนำเอกลักษณ์และความโดดเด่นของโรงแรมในปัจจุบันไปสู่โรงแรมแห่งใหม่ได้อย่างไร จุดนี้เองที่ทำให้เราตัดสินใจให้เวลากับการออกแบบโครงการให้มากขึ้น เนื่องจากเราต้องทำด้วยความรอบคอบ ใส่ใจ และพิถีพิถันในรายละเอียดทุกขั้นตอน เพื่อให้การออกแบบโครงการนี้ตอบโจทย์ความต้องการทั้งด้านงานอนุรักษ์และการนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการทำพื้นที่สีเขียวรอบโครงการเพื่อเชื่อมต่อพื้นที่สีเขียวของสวนลุมพินี การเชื่อมจราจรทุกระนาบไม่ว่าจะเป็นใต้ดิน บนดิน หรือลอยฟ้า เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรหนาแน่นในย่านนี้”
ห้องเบญจรงค์ โรงแรมดุสิตธานีการเก็บเอาเอกลักษณ์และความทรงจำของ “ดุสิตธานี” เอาไว้ ก็เช่น แผนการที่จะนำเอาเสาเอกหนัก 5 ตัน 2 ต้น รวมทั้งผนังปูนขนาดใหญ่ที่มีลวดลายจิตกรรมตกแต่งแสดงออกถึงความเป็นไทย ไปใช้ในโครงการใหม่ที่กำลังจะก่อสร้าง โดยโครงการนี้ จะประกอบไปด้วย อาคารที่พักอาศัย อาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า และแน่นอนว่า “โรงแรม” ซึ่งหมายถึง “โรงแรมดุสิตธานี” โฉมใหม่ นั่นเอง
Dusit Central ParkDusit Central Park